COLUMNIST

ปฏิรูปพลังงานไทยให้พร้อมแข่งขันในอาเซียน
POSTED ON -


มีเรื่องราวมากมายที่คนใน พ.ศ.นี้ต้องรับรู้รับฟัง ทั้งๆ ที่บางครั้งอยากจะปล่อยวางทั้งหมด แต่ก็ทำไม่ได้ ยิ่งเป็นด้านธุรกิจแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงแบบกระพริบตาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกปีกว่าๆ ตลาดใหญ่ขึ้น คู่แข่งขันมากขึ้น รูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไรคงต้องคาดการณ์กันเอง แต่สิ่งที่ไม่เกินความสามารุในการคาดหมายของพวกเราและชาวอาเซียน ก็คือ "พลังงาน"

 

"พลังงาน" คำสั้นๆ ที่มีนิยามยาวๆ พลังงานเป็นปัจจัยที่ 5 ตัวจริง เป็นสาธารณูปโภคเป็นการลงทุน เป็นธุรกิจ เป็นสัมปทาน เป็นการผูกขาด เป็นเกมการเงิน เป็นเกมการเมือง เป็นชนวนสงคราม เป็นบันไดให้คนมีชื่อเสียงหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง เราฟังและอ่านเรื่องของพลังงานเมืองไทยมามากแล้ว ก้าวข้ามไปมองภาพกว้างๆ ในระดับอาเซียนดูบ้าง จะได้มีข้อเปรียบเทียบ และรู้ว่าไทยเราอยู่ตรงไหนในอาเซียน เรื่องของพลังงานย่อมมีความสัมพันธ์กับจำนวนประชากรและรายได้ต่อคนของประเทศนั้นๆ ถ้าคนมาก รายได้สูง ก็จะใช้พลังงานมาก และที่เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ต่อพลังงานที่ใช้เพิ่มขึ้น ลองดูกราฟแล้วท่านเห็นอะไรบ้าง

 

 

สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้ถูกจัดแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก้อน อาจจะเพื่อสะดวกต่อการให้ความช่วยเหลือหรือเพื่อการค้าก็ไม่อาจทราบได้ ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลอาจแบ่งได้ 2-3 กลุ่ม ดังนี้

 

1. CLMV หมายถึง ประเทศที่ยังพัฒนาน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ดังนั้น กฎระเบียบต่างๆ ของประเทศในกลุ่มนี้จึงมีแต้มต่อ คือ ได้รับการยกเว้นหรือได้สิทธิประโยชน์มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ประกอบด้วย กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม

 

2. TIP หมายถึง ประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าลงทุนในสายตาของประเทศพัฒนาแล้ว แต่มีความเสี่ยงทางด้านการเมือง

 

3. ส่วนประเทศที่ไม่ได้กล่าวถึงอีก 3 ประเทศ ซึ่งค่อนข้างจะร่ำรวยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มีประชากรน้อย แต่รายได้สูง ไม่ใช่ใครอื่น นั่นก็คือ สิงคโปร์, บรูไน และเพื่อนน่ารักของเราอย่างมาเลเซีย

 

ขณะที่ในส่วนของข้อมูลด้านพลังงานและพลังงานทดแทนของบางประเทศที่มีความน่าสนใจในการลงทุน มีดังนี้

 

ประเทศเมียนมาร์ - มีประชากรน้อยกว่าไทยราว 10% แต่ใช้น้ำมันน้อยกว่าไทยถึง 12 เท่า ส่วนด้านไฟฟ้าเมียนมาร์ผลิตได้ไม่พอใช้ คือ ผลิตเองในประเทศได้เพียง 3,400 MW แต่มีก๊าซธรรมชาติเหลือใช้ ไทยจึงมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ พลังงานทดแทนที่น่าลงทุน ได้แก่ ชีวมวล, พลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์ และการผลิตไฟฟ้าทุกเทคโนโลยี เนื่องจากยังขาดแคลนอยู่อีกมาก หลังเปิดอาเซียนไทยอาจจะมีวิศวกรหนุ่มหล่อสาวสวยจากเมียนมาร์ ใช้ภาษษอังกฤษได้ดี มาทำงานในไทยมากมาย ถ้ามหาวิทยาลัยไทยยังใช้วิธีการท่องจำอยู่แล้วละก็ ระวังนักศึกษาตกงาน

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) - ประเทศที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว มีหลายฉายา ตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่ของอาเซียน เป็นต้น สปป.ลาว มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน 23,000 MW โดยเป็นสินค้าส่งออกกว่า 90% เนื่องจากมีประชากรเพียง 6.7 ล้านคน ขณะที่พลังงานทดแทนที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ ชีวมวล เนื่องจาก สปป.ลาว ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าพร้อมเป็นแหล่งผลิตชีวมวลจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ชีวมวลอัดแท่ง" (Wood pellet) ซึ่ง สปป.ลาว เปรียบเสมือนแคปซูลหรืออุโมงค์แห่งกาลเวลาของอาเซียน

 

ประเทศกัมพูชา - ปัจจุบันมีประชากรใกล้จะ 15 ล้านคน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง คือ ประมาณ 7% ประเทศกัมพูชามีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังขาดแคลนบุคลากรในบางช่วงอายุ เนื่องจากมีสงครามภายในประเทศยาวนาน ในวันนี้กัมพูชาขาดแคลนไฟฟ้าอย่างมาก ในแต่ละพื้นที่ราคาไฟฟ้าไม่เท่ากัน แล้วแต่ความจำเป็น ทั้งนี้ เนื่องจากการเมืองยังไม่นิ่งพอ จึงมีผู้สนใจลงทุนไม่มากนัก สำหรับพลังงานทดแทนก็คงต้องมองไปที่ชีวมวล และการปลูกพืชผลิตน้ำมัน เช่น สบู่ดำ หากจะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลขนาด 1-2 MW เพื่อทำกำไรในระยะสั้นก็ยังน่าสนใจอยู่

 

ประเทศอินโดนีเซีย - มีพลังงานล้นเหลือในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรือก๊าซ LNG อินโดนีเซียเคยเป็นสมาชิกโอเปค แต่ปัจจุบันกลับมีปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน เนื่องจากอุ้มราคาน้ำมันไว้นานเกินไป จึงไม่สามารถปรับราคาให้เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังถือเป็นประเทศในอาเซียนที่ชาวยุโรปเห็นว่าน่าอยู่ ประชาชานมีความเป็นมิตร วิถีชีวิตเรียบง่าย ในไม่ช้านี้ไทยกับอินโดนีเซียคงจะมีการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วส่งมาใช้ในเมืองไทยด้วยเทคโนโลยี Smart Grid

 

ประเทศฟิลิปปินส์ - เป็นประเทศในอาเซียนที่ประสบภัยธรรมชาติมากที่สุด พายุลูกแล้วลูกเล่าโหมใส่ฟิลิปปินส์ ภาพชีวิตหลังพายุจากสื่อต่างๆ ชวนให้น่าสงสารเพื่อนอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์เป็นอย่างมาก หากพูดถึงพลังงานแล้วฟิลิปปินส์ถือว่าไม่ขาดแคลน มีพลังงานทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความร้อนใต้พิภพ พลังงานแสงอาทิตย์ และยังมีศักยภาพด้านชีวมวลสูงอีกด้วย ชาวฟิลิปปินส์พูดภาษาอังกฤษได้ดี ใครจะไปหาคนมาช่วยงานหลังอาเซียนเปิด เชิญได้เลย First come, First serve

 

ท่านที่เป็นนักอ่านหาความรู้ ลองมองทั้งหน้ากระดานพลังงานในอาเซียนดู ท่านเห็นเหมือนผู้เขียนหรือไม่ว่าในอาเซียนนั้นแต่ละประเทศยังมีพลังงานแบบขาดๆ เกินๆ กันอยู่ จะมีวิธีใดที่จะเฉลี่ยให้ทุกประเทศในอาเซียนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ และพอเพียง โดยมองข้ามการแข่งขันทางเศรษฐกิจ แล้วแบ่งปันกัน เพื่อให้การรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มประเทศสมกับคำขวัญ "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม" เหมือนรวงข้าว 10 รวงมัดรวมกันเป็นตราสัญลักษณ์ "WE ARE ASEAN"